วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร

วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร เป็นโบราณ สถานคู่บ้านคู่เมืองลำพูน ก่อสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ราวพุทธศักราช 1440 วัดพระธาตุหริภุญไชย ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 100 เมตร มีองค์พระธาตุที่บรรจุอัฐิของพระพุทธเจ้า ฐานเจดีย์เป็นรูปเหลี่ยมด้านละ 16 วา


วัดจามเทวี

วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนาไทย ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกู่กุด บางแห่งก็ว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1292 โดยใช้ช่างฝีมือชาวขอม บ้างก็ว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวี ได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระนางลักษณะองค์พระเจดีย์ที่ประดิษฐานในวัด เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ


วัดพระยืน

ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1713 มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปเก่าแก่และหลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช    ซึ่งจารึกเรื่องพระสุมนเถรภิกษุจากรุงสุโขทัย ร่วมกับพระเจ้ากือนา สร้างวัดนี้มาโดยตลอดที่เจดีย์ มีพระพุทธรูปยืนในซุ้มทั้งสี่ด้าน โดยเป็นของโบราณตั้งเดิมหนึ่งองค์และพระเจ้ากือนาสร้างใหม่อีก 3 องค์ เพื่อให้ครบ  4 ด้าน พระเจดีย์วัดพระยืน มีทรงมณฑปคล้ายคลึงกับอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า และวัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย


วัดมหาวัน (วัดมหาวันวนาราม)

อยู่ห่างจากกลางเมืองลำพูนราว 2 กม. เลียบไปตามคูเมืองเก่าด้านตะวันตก มีตำนานการสร้างวัดว่าวัดนี้สร้างมาตั้งแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชย สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธรูปนาคปรกที่เชื่อกันว่าคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำซึ่งพระนางจาเทวีอัญเชิญทาจากกรุงละโว้ ปัจจุบันชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระรอดหลวง” หรือ “พระรอดลำพูน” ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ในการจำลองทำพระเครื่องที่ลือชื่อกรุหนึ่งคือ พระรอดมหาวัน


วัดพระคงฤาษี (วัดอนันทราม)

ตั้งอยู่ตำบลในเมือง เป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญไชย ในวัดนี้มีพระคงซึ่งเป็นพระเครื่องที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่นับถืออีกองค์หนึ่งของเมืองลำพูน

 


อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี

ตั้งอยู่ตำบลในเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กม. พระนางจามเทวีเป็นองค์กษัตริย์แห่งปฐมนครหริภุญไชย(ลำพูน) พระเป็นปราชญ์ที่มีความงดงามทางคุณธรรมและยังมีพระสิริโฉมงดงาม พระนางได้นำพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนลานนาไทยเป็นเบื้องแรก ซึ่งทำให้ล้านนาไทยเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านการศาสนา และศิลปวัฒนธรรมมาจนถึงปัจจุบัน  อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างเสร็จและเปิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2525 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมารฯ เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธี


กู่ช้าง – กู่ม้า

ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลำพูน บริเวณชุมชนวัดไก่แก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กม. เป็นสุสานช้างศึกม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี ช้างศึกชื่อ “ภู่ก่ำ งาเขียว” ซึ่งหมายถึงช้างผิวสีคล้ำงาสีเขียวที่ทรงอานุภาพอิทธิฤทธิ์ในสงครามชาวเมืองถือว่า กู่ช้าง-กู่ม้า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง


น้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ดอยขะม้อ

เป็นชื่อเขาเล็กๆ ลูกหนึ่ง สูงประมาณ 5 เส้น ตอนบนพื้นที่ราบ กว้างประมาณ 1 ไร่ อยู่ในเขตตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 20 กม. มีบ่อน้ำเกิดขึ้นเองบนภูเขาลึกจนประมาณมิได้ และมีน้ำเค็มเต็มบ่อทุกฤดูบ่อน้ำนี้ประชาชนถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ห้ามผู้หญิงตักเวลาถึงเทศกาลสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย จะต้องตักน้ำจากบ่อนี้ไปสรงน้ำพระธาตุก่อนและเวลาพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ จะนำเอาน้ำในบ่อนี้ส่งไปร่วมเป็นน้ำพุทธาภิเษกทุกครั้ง


วัดพระพุทธบาทตากผ้า

อยู่ห่างจากป่าซาง ตามถนนสายป่าซาง – ลี้ ราว 6 – 7 กม. แล้วมีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 1 กม. วัดนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองลำพูน ตามตำนานการสร้างวัดเล่าว่า พระพุทธองค์เคยเสด็จมาประทับที่นี่ แล้วทรงนำจีวรออกตากกับหน้าผาหินแถวนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังปรากฏเป็นรอยตารางคล้ายจีวรของพระอยู่จนทุกวันนี้


วัดพระบาทห้วยต้ม

เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอลี้ และยังเป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวเขาพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กม. แยกจากทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณ กม.ที่ 46-47 เข้าไปประมาณ 5 กม. บริเวณทางเข้ามีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศา วัดพระบาทห้วยต้มมีอาณาบริเวณกว้างขวางมีสิ่งก่อสร้างทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลงด้านหลังของวัดและ มีองค์พระธาตุที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงามบูรณะก่อสร้างจากศรัทธาของบรรดาชาวกะเหรี่ยงที่มีต่อครูบาชัยวงศา พระอาจารย์ชื่อดังทางภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้นอกจากจะทำไร่ทำสวนแล้ว ยังมีอาชีพเป็นช่างฝีมือ ทอผ้า ทำสร้อยคอ และเครื่องเงินเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน


เจดีย์ศรีเวียงชัย

พระบรมธาตุเจดีย์ชเวดากอง (จำลอง) ได้เริ่มลงมือก่อสร้างขุดรากฐานปฐมฤกษ์จำลองแบบมาจาก พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า โดยมีพระเจดีย์องค์ใหญ่เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลาง มีความสูงจากฐานถึงปลายบัวยอดฉัตร 64.39 เมตร และมีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารอยู่โดยรอบจำนวน 48 องค์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

ตั้งอยู่เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญไชย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชนิกุลวิบูลย์ภักดี สมุหเทศาภิบาล มณฑลพายัพ และกรมศิลปกรได้ดำเนินการต่อมาจนมีอาคารแห่งใหม่เมื่อ พ.ศ.2517 ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุศิลปะสมัยหริภุญไชย ซึ่งมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 และระหว่าง พ.ศ. 1600 – 1836 และสมัยศิลปะ มีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 – 25 เปิดทำการเวลา 09.00 น. – 16.00 น. ปิดวันจันทร์, อังคาร และวันนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมคนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 10 บาท


พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน เป็นแหล่งสำหรับการเรียนรู้เรื่องราวในอดีตเมืองลำพูนที่มีความเป็นมาอันยาวนาน เป็นเมืองแห่งศรัทธาทางพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจอันดีต่อผู้คนที่แวะเข้ามาเยี่ยม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนเมืองลำพูน ภาพถ่ายในอดีตบุคคลเหตุการณ์และสถานที่ต่างๆ ที่ท่านยังไม่รู้อีกมากมาย เปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. โดยไม่เสียค่าบัตรผ่านสถานที่ คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์ ตั้งอยู่เลขที่ 10 ถนนวังซ้าย อำเภอในเมือง จังหวัดลำพูน หรืออยู่ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย


คุ้มเจ้ายอดเรือน

เรือนสรไน ของเจ้ายอดเรือน ณ ลำพูน ชายาเจ้าจักรคาขจรศักดิ์ ณ ลำพูน เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย คุ้มแห่งนี้ได้สร้างขึ้นให้แก่เจ้ายอดเรือน เมื่อปี พ.ศ.2470 คุ้มแห่งนี้นับเป็นเรือนพักอาศัยในระดับเจ้าผู้ครองนครที่มีสภาพดีมาก มีความเก่าแก่และรักษาสภาพเดิมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจนเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไม้ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาอย่างแพร่หลายในดินแดนล้านนา ช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 5-6 ที่เรียกว่า “เฮือนสมัยกลาง”


พิพิธภัณฑ์ครูบาศรีวิชัย

ตั้งอยู่ในวัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ อยู่ห่างจากจังหวัดลำพูนประมาณ 50 กม. พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่รวมของเครื่องอัฐบริขารของท่านพระครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนานัปการ ท่านกำเนิดที่บ้านปางแห่งนี้ นอกจากนี้ในบริเวณวัดบ้านปางยังเป็นที่ตั้งของสถูปหินอ่อนบรรจุอัฐธาตุ จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดลำพูนอีกแห่งหนึ่ง


หอศิลป์ อุทยานธรรมะ

ตั้งอยู่ที่ 109/2 ม.2 บ้านป่าซางน้อย สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 และเข้าซอยข้างตลาดป่าซางไป 500 เมตร อุทยานมีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ เป็นสวนร่มรื่น มีอาคารใช้สำหรับจัดแสดง งานประติมากรรม เกี่ยวกับธรรมะและพระพุทธศาสนารอบๆ อาคารมีแบบจำลองประติมากรรม มุมแสดงเสียงพิเศษ ตั้งขึ้นโดย คุณอินสนธ์ วงค์สาม ศิลปินแห่งชาติสาขาประติมากรรม ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทศิลปะและธรรมะ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เปิดให้เข้าชมใน วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 16.00 น. สำหรับวันจันทร์-ศุกร์ ต้องโทรศัพท์นัดหมายล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์. 0-5352- 1609


หอสมุดแห่งชาติลำพูน

หอสมุดแห่งชาติลำพูน เป็นสาขาที่ย้ายมาจากหอสมุดแห่งชาติเชียงใหม่แต่เดิม หอสมุดแห่งชาติจัดตั้งสาขาที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดัดแปลงโรงช้างเผือก (ที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย “พระเศวตคชาดิลก” แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๘ – ๒๔๖๙ ) ให้เป็นห้องสมุดภาคพายัพเพื่อจัดเก็บรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับมณฑลพายัพ

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล

ตั้งอยู่ ม.2 ต.ป่าพลู สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 106 (ช่วงบ้านโฮ่ง-ลี้) จะมีป้ายบอกทางเลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 2.8 กม. เป็นถ้ำที่มีความสวยงาม ภายในถ้ำแบ่งออกเป็น 8 ห้อง เช่น ลานรมณีย์ เป็นห้องกว้างมีแสงสว่างจากปากถ้ำส่องถึงอัคนีโขดเขิน เป็นห้องที่มีร่องรอยการพังทะลายของหินงอกหินย้อยและเนินไศลงามตาเป็นเนินดินสลับกับก้อนหินตั้ง เป็นต้น ค่าเข้าชมถ้ำคนละ 10 บาท ภายในถ้ำจะติดไฟฟ้าไว้บริการ


อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนและอำเภอห้างฉัตร อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 255 กม. นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางรถไฟจากลำพูนไปยังสถานีขุนตาลระยะทาง 22 กม. แล้วต่อด้วยการเดินเท้าอีก 1 กม. ถึงที่ทำการอุทยานฯ สำหรับทางรถยนต์ที่ตัดเข้าสู่ดอยขุนตาลเริ่มต้นจากอำเภอแม่ทา โดยมีทางลูกรังแยกเลี้ยวขวาออกจากถนนพหลโยธินที่มุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะทาง 18 กม. มีสถานที่น่าสนใจเป็นที่ตั้งของบ้านพักมิชชันนารี จุดสูงสุดของเทือกเขาดอยขุนตาลมีชื่อเรียกว่า “ม่อนส่องกล้อง” อุโมงค์ขุนตาล น้ำตกแม่กลอง น้ำตกตาดเหมย เป็นต้น


ถ้ำหลวงผาเวียง

เดิมชื่อว่าอุทยานแห่งชาติแม่หาด-แม่ก้อ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2524 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,003 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนและอำเภอสามเงาจังหวัดตาก นอกจากนี้ยังมีแก่งก้อ เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือชมภูมิประเทศและถานที่น่าสนใจต่างๆ ได้ เช่น น้ำตกอุมแป น้ำตกอุมปาด ถ้ำยางวี เกาะคู่สร้างคู่สม ผาเต่า ผาพระนอน ผาคันเบ็ด แก่งสร้อย ถ้ำแก่งสร้อย พระธาตุแก่งสร้อย พระบาทบ่อลม เขื่อนภูมิพล เป็นต้น

ศูนย์ศิลปหัตถกรรมผ้าไหมยกดอก

จังหวัดลำพูน มีงานศิลปหัตถกรรมประเภทผ้าทอพื้นเมืองที่สวยงามรู้จักกันในนาม ­ผ้าไหมยกดอกลำพูน มีลักษณะพิเศษคือเพิ่มเส้นพุ่งและเพิ่มดิ้นเงินดิ้นทอง เพื่อให้ลวดลายและสีสันงดงาม ซึ่งเริ่มขึ้นในคุ้มของเจ้าผู้ครองนครลำพูน ปัจจุบันผ้าไหมยกดอกลำพูนโดยเฉพาะผ้าดิ้นเงินดิ้นทองได้ประยุกต์ผ้าทอโบราณให้เข้ากับยุคสมัย ตามความนิยมของผู้ใช้


หัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือ

ผ้าฝ้ายทอมือ อำเภอป่าซางมีแหล่งผลิตใหญ่ อยู่ที่บ้านหนองเงือก และบ้านดอนหลวง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งแทบทุกครัวเรือนได้รับมรดกทางวิชาการทอผ้าฝ้ายสืบต่อกันมาจากหลายชั่วอายุคน แต่ไม่ทราบระยะเวลาที่เริ่มต้นแน่นอนว่ามีความเป็นมาเก่าแก่เพียงใด ทำให้โรงทอที่พบในปัจจุบันนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมและกรรมวิธีการทอผ้าทอมือพื้นเมืองโบราณไว้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีบ้างบางแห่งที่พัฒนากรรมวิธีให้ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในขั้นตอนของการกรอด้ายและการผูกกี่ เป็นต้น


หมู่บ้านกะเหรี่ยงพัฒนาห้วยหละ

อยู่ตำบลป่าพลู ตามทางหลวงสายลำพูน-ลี้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง ไปทางทิศใต้ 12 กม. เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ยังคงประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมไว้ กิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การทอผ้าผ้าแบบดั้งเดิมโดยใช้เอวเป็นกี่ในการทอ

 


หมู่บ้านแกะสลักบ้านทา

ไปตามถนนสายแม่ทา-ท่าจักร ประมาณ 15 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตไม้แกะสลักเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ เครื่องประดับบ้าน ฯลฯ

 


หมู่บ้านสานหมวกไม้ไผ่/หมวกใบลานบ้านแป้น

อยู่ที่หมู่บ้านเหมืองจี้ ตำบลบ้านแป้น เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือและมีอาชีพหัตถกรรมสานหมวกไม้ไผ่ หมวกใบลานรูปแบบต่างๆ ที่สวยงามราคาไม่แพง